wisdom teeth

ฟันคุดคืออะไร

เป็นฟันที่ขึ้นผิดปกติจากฟันทั่วไป อาจตั้งตรง เอียง นอนในแนวราบ หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรก็ได้ เนื่องจากเป็นฟันที่ขึ้นช้ากว่าซี่อื่นจึงไม่มีพื้นที่ว่างให้งอกขึ้นมา ส่วนฟันที่มีโอกาสเป็นฟันคุดมากที่สุดได้แก่ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ฟันเขี้ยว และฟันกรามน้อย ซึ่งจะขึ้นตั้งแต่อายุ 18-25 ปี และอยู่ติดกับฟันซี่ข้างๆ เสมอ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจรู้สึกปวดและเกิดปัญหาฟันอื่นๆ ตามมา

การผ่าฟันคุด ช่วยเรื่องอะไรบ้าง

ถึงตอนนี้จะยังไม่แสดงอาการใดๆ แต่ฟันคุดอาจส่งผลต่อการเกิดปัญหาช่องปากในระยะยาวได้

  • ป้องกันอาการปวดฟันจากแรงดันของฟันคุด
  • ป้องกันการติดเชื้อจากฟันคุด
  • ป้องกันเหงือกอักเสบที่ปกคลุมฟัน
  • ป้องกันการละลายตัวของกระดูกรอบรากฟัน
  • ป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก
  • ป้องกันการเกิดฟันซ้อนเก
  • ป้องกันฟันผุ
  • ช่วยให้ฟันซี่อื่นเคลื่อนที่ง่ายขึ้นเวลาจัดฟัน
ผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุดกินอะไรได้บ้าง

เนื่องจากแผลที่เกิดจากการถอนฟันจะมีลักษณะเป็นแอ่ง เป็นหลุม ตามรูปร่างของรากฟันที่ถูกถอนออก ทำให้อาจจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น มีเลือดออกจากแผล เกิดการอักเสบของแผล

ทันตแพทย์จะแนะนำให้เป็นทานอาหารอ่อนที่ ย่อยง่าย มีรสชาติไม่จัด ไม่เผ็ดร้อน และเป็นอาหารที่ผ่านการสับ บด หั่น ปั่น หรือปรุงมาแล้วจะดีมาก ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเกิดการกระทบกระเทือน โดยควรรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี

เมนูอาหารอ่อนที่สามารถรับประทานได้ เช่น

  • ข้าวต้ม ซุป แกง หรือโจ๊ก เเป็นเมนูอาหารที่รับประทานง่าย ไม่มีวัตถุดิบที่แข็งจนทำให้เคี้ยวลำบากหรือรู้สึกระคายเคืองบริเวณแผลที่ทำการผ่าฟันคุดออก แต่การรับประทานอาหารประเภทนี้อาจจะต้องระวังเรื่องความร้อน เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บแผลได้หากกินตอนร้อนมากเกินไป ควรรับประทานในขณะที่อุ่นจะดีที่สุด
  • ผักที่นึ่งหรือต้มจนสุกแล้ว เช่น กะหล่ำ ผักกาดขาว ฟักทอง ฯลฯ เพราะ เป็นอาหารที่นิ่ม รับประทานได้ง่าย นอกจากนี้ การกินผักจะช่วยลดการอักเสบและเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยให้หายเร็วขึ้นด้วย
  • เนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วต้มสุกจนนิ่มแล้ว เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู รวมไปถึงไข่ก็สามารถรับประทานได้ เพราะการรับประทานโปรตีนจะช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ และยังช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดีขึ้น
  • นม โยเกิร์ต เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ทานง่ายไม่จำเป็นต้องเคี้ยว และให้สารอาหารจำพวกโปรตีนและวิตามินที่จำเป็นแก่ร่างกาย

ผ่าฟันคุดห้ามกินอะไร

หากต้องการให้แผลจากการผ่าฟันคุดหายไวขึ้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้

  • อาหารรสจัดหรือเผ็ดจัด เช่น ส้มตำ ต้มยำ แกงเผ็ด แกงส้ม ผัดกะเพรา ผัดฉ่า ผัดพริกเผา ฯลฯ เพราะอาจจะทำให้แผลเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบขึ้นมาได้
  • อาหารประเภทเคี้ยวยาก เช่น เนื้อติดมัน ไก่ทอด หมูกรอบ ฯลฯ เพราะเวลาเคี้ยวอาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณแผล หรือทำให้แผลกระทบกระเทือนได้
  • อาหารแสลงที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ปลาร้า ฯลฯ เพราะกรรมวิธีการทำอาจไม่สะอาดทำให้แผลเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุให้แผลบวมและเป็นหนองได้
  • อาหารทะเล เนื่องจากอาหารทะเลเสี่ยงต่อการแพ้ได้ง่าย อีกทั้งมีเชื้อโรคสูง หากไม่ใช่อาหารที่ผ่านความร้อนมาเป็นอย่างดีแนะนำให้หลีกเลี่ยงก่อน
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ เป็นต้น เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดตรงปากแผลหยุดช้าลง ทำให้แผลหายช้าลง
  • อาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวหรือเป็นกรด เช่น โซดา ส้ม มะนาว ยำ ฯลฯ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบและปวดบาดแผลได้
Scroll to Top